'พวกเขาน่ารัก ถ้าผมมีลูกเป็นดาวน์ฯ จะไม่เสียใจ'โหน่ง a day เดอะดาวน์ หนังสนุกดีที่ต้องดู!

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1351
หางาน,สมัครงาน,งาน,'พวกเขาน่ารัก ถ้าผมมีลูกเป็นดาวน์ฯ จะไม่เสียใจ'โหน่ง a day เดอะดาวน์ หนังสนุกดีที่ต้องดู!

ก่อนเราจะพบหน้า ทีมงานเขาเดินมาขอยาพารา 2 เม็ด เพราะการเดินสายโปรโมตหนังสารคดีที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ในขณะนี้ หนัง 1 ชั่วโมงครึ่ง ทว่ามีฟุตเทจมหาศาลกว่า 100 ชั่วโมง ออกมาปรากฏต่อหน้าทุกคน 

แต่ 'ราชสีห์' ก็ยังเป็น 'ราชสีห์' ยังสุขุม แหลมคม และน่าเกรงขาม ไม่ว่ามันจะอยู่ในสถานะใด 

พูดถึงความรู้สึก - ทันทีที่ไฟเปิดทุกคนในโรงภาพยนตร์รอบสื่อ เสียงปรบมือกึกก้อง คงเพราะหนังสารคดีเรื่องนี้มีหลายรสชาติ ทั้งสนุก น่ารักปนฮา ซึ้ง หัวเราะทั้งน้ำตาและได้แรงบันดาลใจ หลายคนบอกว่า หลังลุกออกจากโรงมันได้เปลี่ยนมุมมองความรู้สึกที่เรามีต่อคนที่เป็นดาวน์ฯ ไปอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนไปในทิศทางดี เข้าอกเข้าใจ

เหนือไปกว่านั้น ยังรู้สึกทึ่งกับหัวใจ ความมหัศจรรย์ ความแข็งแกร่งของเพศแม่ 

'เห็นกระแสผมหายเหนื่อยเลยว่ะ...' ผู้ชายมาดสุขุมตรงหน้ายิ้มบอกผมแบบนั้น ในวันที่หนังเรื่อง เดอะดาวน์ ของ 'โหน่ง อะเดย์' หรือ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ นักคิด นักเขียน พิธีกร ซีอีโอ หรือในช่วงหนึ่งฮิตคำว่าเด็กแนว คนก็เรียกเขาว่า ศาสดาเด็กแนว ค่าย a day ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับเขาในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหนังที่กำลังเป็นกระแส

หนังน้ำดี (ชมคลิป) เพลงเพราะ (ชมคลิป) ที่เราจะไม่โฆษณาว่าดีอย่างไร แต่สิ่งที่บอกได้คือ ต้องเสียใจหากคุณไม่ได้ไปดู ผมเอาหัวเป็นประกัน

 

 

Q : หนังเป็นความสนใจ หรือ เป็นการจับพลัดจับผลู

มันเป็นความสนใจมานาน ผมถือเป็นคนรักหนังคนหนึ่งตั้งแต่เด็ก ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ตอนวัยรุ่นผมเข้าโรงหนัง 4-5 โรงต่อสัปดาห์ เพื่อที่จะเก็บหนังให้ได้ 4-5 เรื่อง ผมซื้อสตาร์พิกส์ ซื้อเอ็นเตอร์เทนต์ ซื้อ FLICKS นิตยสารภาพยนตร์ เราก็จะมานั่งดูที่เราลิสต์เอาไว้ว่าปีหนึ่งดูไปกี่ร้อยเรื่องวะ ผมถือเป็นเนิร์ดเรื่องหนังคนหนึ่งเหมือนกัน

Q : ในสมุดจดเอาไว้ว่าดูสูงสุดกี่เรื่องต่อปี

มากสุดเกือบ 300 เรื่อง เป็นเรื่องที่ดูในโรงหนัง อย่าง สกาล่า ออกมาเจอลิโด้ สยามเซ็นเตอร์ และอื่นๆ ผมดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ หนังที่ดูเราก็ดูทุกแนวเลย หนังกระแส-นอกกระแสก็ดู หนังเมเจอร์ก็ดูนะ เมื่อก่อนหนังเล็กๆ แบบอินดี้ก็มี อย่างหนังที่ได้ออสการ์สาขาเล็กๆ ต่างประเทศก็ดู 

Q : เป็นนักดูหนังถึงขั้นเป็นเนิร์ดแบบนี้ มันเคลื่อนย้ายมาอยากทำหนังเมื่อไหร่

ผมจำได้มีสื่อมาสัมภาษณ์ผม ถามว่ามีฝันอยากทำอะไรไม่ได้ทำ ผมอยากทำหนัง ตอนที่ตอบก็ไม่มีเรื่องที่อยู่ในหัว แต่ก็คิดว่าผมทำสื่อมาหลายอย่าง ทำสื่อ ทำนิตยสาร ทำหนังสือ รายการทีวี มีสื่อที่ผมยังไม่ได้ทำก็คือภาพยนตร์ มันคงจะเป็นความท้าทายลึกๆ พื้นที่นี้เราไม่เคยไป เราอยากไปลองดูสักครั้งว่าเป็นอย่างไร

หนังประเภทหนึ่งที่ผมชอบดูมากๆ ก็คือหนังสารคดี ผมดูหนังสารคดีเยอะนะ ผมพบว่า ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา หรือว่าจะเป็นเอเชียเราเนี่ย เขาทำแล้วมันดูสนุก ขณะเดียวกันก็มีเมสเสจที่เข้มข้นดี แต่คำว่าสารคดีในบ้านเรา คนเรามันมี Perception ว่า ต้องน่าเบื่อ ต้องวิชาการ ดูยาก แต่สำหรับผมในแง่หนึ่งก็อยากทำหนังสารคดี เพราะผมรู้สึกว่าสารคดี มันมีเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หนังทั่วไปไม่มี

คือความจริง สารคดีคือความจริง อย่าง Super Size Me (2004), Fahrenheit 9/11 (2004) Bowling for Columbine (2002) สนุกและคนดูเยอะมาก 

Q : ชอบแล้วก็คือตั้งใจว่าจะทำหนังสารคดีถ้ามีโอกาสพูดถูกไหม?

ใช่เลย ถ้าอยากเปลี่ยนความคิดคน อีกอย่างหนึ่งวงการหนังที่ไม่ค่อยมีคนทำสักเท่าไร ยังไม่สามารถเรียกร้องความสนใจได้มากนักก็คือหนังกลุ่มสารคดี ผมคิดว่าสังคมเรายังมีประเด็นและเรื่องราวที่มาสร้างหนังสารคดีเยอะแยะ 

Q : เดอะดาวน์กระทบใจอะไรเราถึงออกมาเป็นหนัง

ผมไปอิตาลีมา แต่ละวันผมไปเที่ยวโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ กระทั่งกินข้าวในร้านอาหาร ผมเจอคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมหลายครั้ง เขาก็ออกมาใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป อย่างหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ 'คนที่มองพวกเขาก็มองด้วยสายตาปกติ ไม่ได้นึกว่าเขาเป็นคนพิเศษ เป็นคนที่แปลกแยกเลย' กลับมาเมืองไทยก็มานั่งนึกว่าทำไมผมไม่เคยเจอคนที่เป็นดาวน์ฯ ในชีวิตประจำวันเลย ถ้าเราไม่มีญาติพี่น้องเป็นเราแทบจะไม่เห็นพวกเขาอยู่ในชีวิตประจำวันเลยจริงมั้ย ตั้งกี่ปีแล้ว

แต่ไปอิตาลีผมเจอ 3-4 ครั้ง ทีแรกผมก็นึกว่าที่บ้านเราไม่ค่อยมีคนเป็นดาวน์ฯ ผมก็เลยให้ทีมงานไปค้นข้อมูล ปรากฏว่าไม่ใช่ว่ะ ประเทศไทยมีคนเป็นดาวน์ฯ เป็นแสนคน อัตราเกิดต่อปี 800-1,000 คนทุกๆ ปี แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ค่อยเห็นพวกเขาก็คือพ่อแม่เป็นห่วงลูก กลัวลูกจะดูแลตัวเองไม่ได้เลยไม่ปล่อยให้ไปไหน จะเก็บอยู่ในบ้าน อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พ่อแม่ บางส่วนอายที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม จุดนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก ผมคิดว่าควรจะทำสื่ออะไรสักอย่างหนึ่งที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับคนที่เป็นดาวน์ฯ ให้กับสังคมนี้ 

 

 

Q : แรกๆ ตั้งใจว่าจะเป็นรายการทีวี

ครับ เพราะเราทำ อะเดย์ทีวี เรามีช่องมีทีมทำทีวี ผมเรียกทีมทีวีว่าเฮียไปเห็นแบบนี้มา ลองไปทำข้อมูล เขาก็ไปหาข้อมูลรีเสิร์ชมา และลองไปถ่ายมา 2 ครั้ง ครั้งแรกไปถ่ายเบียร์ (1 ใน 5 นักแสดงที่เป็นดาวน์ซินโดรม) ที่สตาร์บัคส์ ครั้งที่ 2 ถ่ายแบงค์ (1 ใน 5 นักแสดงที่เป็นดาวน์ซินโดรม) ที่ 'ยูนิโคล่' ก็ตัดคัดมาให้ผมดู ปรากฏว่ามันดีมาก ดีจนเสียดายถ้ามันจะเป็นรายการทีวี เพราะว่ารายการทีวีเยอะมาก ช่องมีเป็นร้อยเลย ถ้าผมทำรายการเดอะดาวน์ขึ้นมามันก็ไปจนอยู่ในนั้น ผมเลยคิดกลับกัน หรือผมสามารถเล่าเป็นภาพยนตร์ได้ไหม ก็ได้นี่หว่า เลยบอกทีม

Q : ใช้เวลา 1 ปีเต็ม

ตอนแรกผมกะว่า 3 เดือนจะถ่ายเสร็จ ปกติผมจะไม่ทำโปรเจกต์ยาวๆ ผมชอบทำนิตยสารรายเดือน หลังๆ ชอบรายสัปดาห์ รายการโทรทัศน์ชอบอะไรที่มันเร็วๆ ผมไม่เคยคิดว่าจะทำโปรเจกต์ที่กินระยะเวลา 1 ปี แต่พอเดอะดาวน์ฯ เปลี่ยนรูปแบบเป็นภาพยนตร์มันเหมือนรื้อใหม่หมด ภาษาโครงสร้างของเรื่องมันต้องเปลี่ยนใหม่หมด ก็เป็นเรื่องที่โหดหินเหมือนกัน เราเคยวางแผนเป๊ะๆ ทำสคริปต์เป๊ะๆ เนื่องจากเราเป็นคนทำหนังสือ ปรากฏว่าพอไปถ่ายจริงๆ เขาแสดงไม่ได้ สั่งไม่ได้

ตอนแรกคิดว่าจะกำกับคิดว่าจะให้บทพูดไป แต่ไม่รอดเว้ย (หัวเราะ) เลยเปลี่ยนใหม่ให้เป็นเรียลลิตี้ ก็เอากล้องตามไป ก็วางคร่าวๆ ว่าวันนี้แพท AIS ออฟฟิศ (1 ใน 5 นักแสดงที่เป็นดาวน์ซินโดรม) แพนที่บ้าน เบียร์ที่สตาร์บัคส์ แบงค์ที่ยูนิโคล่ แบงค์วันหยุดอยู่กับพ่อแม่ แล้วก็เอากล้องไป ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันก็เลยลากยาว 3 เดือนไม่ได้อะไร 6 เดือนก็ยังไม่พอ กลายเป็น 1 ปี

Q : นี่คืองานที่ยากที่สุดในชีวิตไหม

เป็นงานที่ยากที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิตผม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นศาสตร์ที่ผมไม่เคยแตะ หรือเป็นพื้นที่ที่ผมยังไม่เคยไป ผมก็เหมือนคนที่ขับรถแล้วไม่เคยไปเส้นทางนี้ ฉะนั้นก็ต้องคลำทาง มันจะมีแผนที่คร่าวๆ มองจุดหมายว่าอยากไปตรงนั้น แต่ระหว่างทางต้องมีอุปสรรค มีทางที่ไม่คุ้นเคย ที่สำคัญไม่ได้ไปคนเดียว มีลูกทีมและนักแสดง ที่คอนโทรลอะไรไม่ได้ 5 คน ทีมงานหนักกองมันใหญ่ เกือบ 30 คน ผมก็ต้องเฮ้ย ผมเป็นคนนำทางเป็นกัปตัน ผมก็ต้องถามความเห็นคนนั้นคนนี้ว่าเป็นไง ไปตรงนั้นดีไหมวะ ทุกคนก็จะช่วยกันมันก็เลยถึงช้า แต่สุดท้ายมันจะถึง

 

 

Q : เสน่ห์ของคนที่เป็นดาวน์ฯ คืออะไร

ผมว่าคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเขามีความน่ารักเหมือนกันอยู่อย่าง มีความเป็นมิตรสูง คุณจะเห็นว่าเขารู้จักคนง่าย แต่การที่ต้องอาศัยความไว้ใจก็ต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง แต่ข้อดีก็คือ เขาเป็นคนที่ไม่คิดซับซ้อน 

Q : ไม่มีเหลี่ยม เหมือนคนปกติทั่วไป

ไม่มีๆ เป็นคนจริงใจ น่ารัก คนเป็นดาวน์ฯ เป็นคนโกรธยาก และหายเร็ว 

Q : รอบสื่อฉายไป ไปดูได้รับเสียงตอบรับดีมาก มันสนุก มันตลก ซาบซึ้ง ได้แรงบันดาลใจและเข้าใจคนเป็นดาวน์ฯ มากขึ้น 

มันเป็นความตั้งใจของผม คนชอบมีภาพว่าหนังสารคดีมันไม่สนุก ต้องไม่สนุก ซึ่งไม่จริง ผมดูหนังสารคดีที่สนุกๆ ในโลกนี้มาเยอะแยะ ความตั้งใจแรกของเราก็คือจะทำให้ดูสนุก องค์ประกอบมีอะไรบ้างล่ะ ความขบขัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวังให้มากที่สุด 

Q : เสียงหัวเราะ ไม่ได้ไปล้อเลียนหรือไปมีความสุขกับทุกข์ของเขา?

ใช่ครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เจตนา เรื่องเสียงหัวเราะ ถ้าพูดถึง มันคือสิ่งที่เราคุยกันมากที่สุดเลยนะว่า 'เสียงหัวเราะมันจะมาจากอะไร หัวเราะจากความขบขันเขา ความดูถูกไม่เอา แต่ต้องเป็นเสียงหัวเราะที่มาจากความน่ารักของพวกเขา อย่างแบงค์ร้องเพลงไม่คิดว่าจะน่ารัก

Q : 'ฉันไม่ยอมเธอหรอก' (ประโยคเด็ดในหนังเรื่องเดอะดาวน์) ก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงหรือเป็นไดอะล็อก

(หัวเราะ) ใช่ๆ แบบนี้แหละที่คุยไปเอาไดอะล็อกไปยัดใส่เขาไม่ได้ เราตั้งกล้องเป็นวันๆ แล้วก็ได้มา 5-7 นาที สุดยอดมากเลย เดอะดาวน์มันสอนให้พวกเรารอคอยจริงๆ นะ ผมมีอยู่ซีนหนึ่ง 'พี่โหน่งเจอ ออม-อัน ครั้งแรก (ฝาแฝดนักกีฬานักแสดงนำเรื่องเดอะดาวน์) ขับรถไปราชบุรี เล่นกีฬากัน

 

 

Q : นี่คือสคริปต์

(หัวเราะ) ใช่ๆ ขับรถไปจากกรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง เขา (ออม-อัน) ได้ไปเที่ยวดรีมเวิลด์กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก่อนปิดเทอม ทีมงานจึงอยากถ่ายเพราะถ้าไม่ถ่ายก็ต้องรอเปิดเทอมอีกตั้ง 2 เดือน ทีมงานจึงเอารถตู้ไปรับจากดรีมเวิลด์ วันนั้นผมนั่งสัมภาษณ์ไป 2 ชั่วโมงเลย ชวนคุยๆ แต่ไม่ได้อะไรเลย เขาอารมณ์ไม่ดี เขาเหนื่อย ปรากฏว่าวันนั้นผมใช้เวลากับฉากนี้ 6 ชั่วโมง รวมกับขับรถไป-กลับกรุงเทพฯ แต่คุณเชื่อไหมฉากนี้ไม่ได้อยู่ในหนังแม้แต่นาทีเดียว (หัวเราะ) เพราะมันไม่ได้

Q : เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราถ่ายได้ไม่ได้หมายความว่าใช้ได้ ?

ใช่ หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยฟุตเทจที่ว่างเปล่าเยอะมาก แต่ว่ามันดี มันสอนเรานะ ถ้าผมไปคิดว่าฉากนี้ผมเสียเวลา 6 ชั่วโมง เอามันมาใช้สัก 6 นาทีได้ไหม มันไม่ได้นะ เพราะว่าถ้ามันใช้ไม่ได้จริงๆ มันไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ต้องตัดใจที่จะตัด อย่าไปคิดว่าเราลงทุนลงแรงไปแล้วเราต้องใช้มันหน่อย นั่นไม่ใช่ หนังมันจะไม่สมบูรณ์ขนาดนี้เลย 

Q : ย้อนกลับไปอยากไปแก้ไขอะไรในหนังเรื่องนี้หรือไม่

เป็นคำถามที่ดีมากเลย เชื่อไหมว่าผมรู้สึกว่าทุกนาทีในหนังเรื่องนี้มันลงตัวหมดเลย ทุกการตัดต่อ ทุกจังหวะ เพราะผมอยู่กับมันมาเยอะ ผมจำได้ว่าดราฟต์แรกๆ ผิดหวังเหมือนกัน ผิดหวังจังเลยว่ะ เหนื่อยมาเป็นปี ได้แค่นี้เองเหรอ แต่ทีนี้พอเรามาคุยกันใหม่ ถกเถียงกัน ทะเลาะกัน สุดท้ายก็มาออกความเห็นแล้วก็มาตัดกันใหม่ เราตัดกันทั้งหมด 4 ดราฟต์ กว่าจะกลายมาเป็นดราฟต์ที่คุณดูในโรง และผมคิดว่าเป็นดราฟต์ที่เพอร์เฟกต์ที่สุดเลย ผมชอบทุกคัตทุกซีนทุกฉากในหนังเรื่องนี้เลย มันลงตัว 

Q : หนังที่ดีมันมักจะลงเอยตกม้าตายตอนตัดต่อ คุณรู้ใช่ไหม 

ใช่ การตัดต่อเป็นหัวใจห้องหนึ่งของหนังเลยครับ สำหรับเดอะดาวน์ยิ่งแล้วใหญ่ สำหรับเราฟุตเทจอย่างที่บอกเป็นร้อยชั่วโมง คนตัดต่อน่านับถือมาก ต้องชื่นชมพวกเขา ถามเรื่องน้ำหนักของการให้ความสำคัญแต่ละคนอย่างไร เท่าที่ดูเดอะดาวน์มานั้นเราค่อนข้างเกลี่ยน้ำหนักเท่าๆ กัน โอเคอาจจะมีบางคนที่ดูเด่นขึ้นมาเพราะว่าคาแรกเตอร์ของเขา แต่เท่าที่ผมดู ความสำคัญของแต่ละคนมีเท่ากัน ขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้

Q : เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้สำหรับคุณคิดว่าอย่างไร?

ผมคิดว่ามันคือความจริง ที่คนจำนวนมากไม่เคยเห็นหรือไม่เคยรู้มาก่อน ผมเชื่อว่าใครที่ดูเดอะดาวน์จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจในแง่ที่ว่า ไม่เคยเห็นโลกของคนเป็นดาวน์ซินโดรมหรือเด็กพิเศษกระจ่างแจ้งขนาดนี้มาก่อน ฉากแรกที่เด็กพิเศษเป็นร้อยๆ คนอยู่ร่วมกันอยู่ในโรงพยาบาลที่นั่งรอหมอประมาณ 50 คน ผมว่าผมก็ไม่เคยเห็นนะ แต่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราได้ก้าวเข้าไปในชีวิตของพวกเขาอย่างใกล้ชิด อย่างเกาะติดมาก เข้าไปถึงในโต๊ะกินข้าว ในห้องนอนเลย มันทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของเขากับคนในครอบครัว ซึ่งผมคิดว่าเป็นภาพและความรู้สึกที่วิเศษมากๆ เลยนะ 

ผมรู้สึกว่าครอบครัวคนเป็นดาวน์ฯ จะมีความอบอุ่นมากกว่าครอบครัวคนปกติ อาจจะเป็นเพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องผ่านภาวะที่หนักหนามาก่อนกับลูก มันก็เหมือนเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ความรักความใส่ใจความผูกพันมันเลยแน่นแฟ้นมาก อีกด้านหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือหนังแม่ลูกเลยนะ 

Q : เราต้องยอมรับว่าหัวใจของคนเป็นแม่สุดยอด เพศแม่สร้างโลกจริงๆ?

ทุกคนเก่งมากๆ ผู้หญิงคือฮีโร่

 

 

Q : หนังเรื่องนี้มีเมสเสจอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการให้โอกาสคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะพวกเขามีความสามารถ และสามารถพัฒนาได้ดีมาก ขอแค่โอกาส

ถูกต้อง ผมว่าสังคมเรามีลักษณะอย่างหนึ่ง เรามักจะคบหากับคนที่มีสถานะใกล้ๆ กับเราสังเกตไหม คนที่สูงกว่าเรานิดหนึ่งด้วยเพราะหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่คนที่เรารู้สึกว่าเขาไร้ความสามารถ ไม่มีประโยชน์กับเรา เขาต้องการความช่วยเหลือเราจะแบบเหมือนผลักไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ ไม่เฉพาะดาวน์ซินโดรม คนพิการในทุกด้าน แรงงานต่างชาติ ซึ่งเยอะมาก เพื่อนบ้านเรา ลาว เขมร เวียดนาม อยู่ในเมืองไทยเป็นล้านๆ บ้านผมก็มีคนหนึ่ง แต่เราไม่ค่อยรู้จักพวกเขาสักเท่าไร อาจเพราะอคติที่อยู่ในใจ 

อาจจะเป็นเพราะความไม่รู้ เราก็เลยไม่เข้าใจ ไม่สนใจ แต่เดอะดาวน์ที่ใครดูแล้วผมเชื่อว่า คุณจะเปิดใจมากขึ้นในการอยากจะทำความรู้จักเพื่อนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา ถ้าเราเปิดใจเราก็จะได้เห็นความจริง แล้วเราก็ไม่เกิดอคติ มากไปกว่านั้นเราอาจจะช่วยเหลือกัน รู้สึกดีต่อกัน อย่างที่บอกจุดเร่ิมต้นที่ทำให้ผมทำหนังเรื่องนี้ คือจุดสะเทือนใจของหนังเรื่องนี้มันทำให้ผมรู้ว่า พ่อแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์หลายคน คลอดลูกที่โรงพยาบาล พอทราบว่าลูกเป็นดาวน์ก็ทิ้งเลย นี่คือข้อมูลจริงจากโรงพยาบาลศิริราช มันน่าเศร้ามาก แต่เราไม่อยากโทษพ่อแม่ เราโทษสังคมที่มันเอดดูเคต (Educate) คนแบบไหน ผมกลับไปย้อนดูผลการวิจัย ข้อมูลเยอะแยะ เราเคยเรียกดาวน์ซินโดรมว่าคนปัญญาอ่อน คนละอย่างเลยนะ มันกลายเป็นว่าเขาไม่มีประโยชน์ทำงานไม่ได้

เป็นภาระก็แย่แล้ว ข้อมูลอื่นๆ ที่รับรู้มา ครอบครัวที่เป็นดาวน์ซินโดรมมีแนวโน้มที่จะหย่าร้างกันสูง เพราะว่าเกิดความเครียด เครียดที่เกิดความอับอายผู้คน เครียดจากค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะว่าเด็กที่เป็นดาวน์เขาจะป่วยบ่อย กลายเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าจะเปลี่ยน ผมรู้สึกวาคนที่ดูเดอะดาวน์นะ นอกจากจะเข้าใจคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้น จะรู้สึกดีกับพวกเขามากขึ้น

'ตัวผมเองผมพูดจริง ถ้าผมมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมผมจะไม่เสียใจเลย ผมจะดีใจด้วย เพราะพวกเขาน่ารักมาก'

หนังเรื่องนี้คงไม่สอนคนตรงๆ แต่ใครที่ดูหนังเราคงได้คิดได้รู้สึกว่า เออวะ ทำไมเราไม่รู้จักพวกเขาเลย มีตั้งหลายแสนอยู่ในสังคม พอรู้สึกพวกเขาก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนพวกเรานี่หว่า อย่างที่ผมเขียน มีอารมณ์ความรู้สึก มีความฝัน หัวเราะได้ ร้องไห้เป็น 

Q : หนังเรื่องนี้ สอนอะไรเรา บำบัดอะไรเราบ้าง

มากๆ เลยครับ บอกได้เลย ผมคิดว่าผมอายุเท่านี้รู้แทบทุกอย่างแล้วนะ แต่ทำงานกับพวกเขา 5 คน สอนผมจริงๆ ผมเป็นคนใจร้อน (หัวเราะ) เรื่องงาน ผมชอบอะไรที่เร็วๆ แล้วเป็นพวกเพอร์เฟกชั่นนิสต์ คือ นิยมความสมบูรณ์ ผมเป็นหัวหน้า หรือผมเป็นโหน่งอะเดย์ ต้องวางแผนเป๊ะๆ ทำไปตามนั้น ต้องทำให้ออกมาดีนะ ไม่ชอบความผิดหวัง ไม่ชอบความล้มเหลว

แต่มาทำเดอะดาวน์เจอมาหมดเลย เรื่องไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เรื่องที่ต้องอาศัยการอดทน อาศัยการรอคอยอย่างสูง หนึ่งปีที่ทำเดอะดาวน์ผมใจเย็นอย่างเป็นรูปธรรม ผมรู้จักวิธีที่จะรู้จักสื่อสารกับเขา ทุกวันนี้ผมคุยกับพวกเขาได้เหมือนกับคนปกติเลย สอนให้ผม take it easy ดาวน์ซินโดรมสอนผม อย่าไปซีเรียสมาก ทำอะไรพลาดเดี๋ยวทำใหม่ก็ได้ อย่าไปจมอยู่กับความผิดหวัง ล้มเหลว จากที่สังเกตผมคิดเองนะพวกเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยจมอยู่กับความทุกข์ในอดีตแล้วก็ไม่ค่อยจะจมกับเรื่องในอนาคต ชีวิตของพวกเขาอยู่ตรงนี้นาทีนี้ เฮ้ยนี่คือคุณสมบัติของคนที่จะมีความสุขเลยนะ นี่คือสิ่งที่พวกเขาสอนผม

Q : หวังผลขนาดไหน เรื่องลงทุน

ไม่มากอย่างที่คิด ก่อนที่จะทำหนังมีพี่ๆ ที่เป็นผู้กำกับเคยพูดให้ฟังว่าทำหนังเรื่องหนึ่งต้องกำเงินมา 20 ล้านเลยนะ แต่ผมทำจริงๆ ก็ไม่ถึง 1 ใน 4 เลยด้วยซ้ำ เรื่อง investment ผมไม่กังวลเรื่องธุรกิจ เพราะผมรู้สึกว่าผมได้อยู่ ถ้าพูดในแง่ธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นผมไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้เพื่อจะ make money ถ้า make money ผมทำอย่างอื่นผมได้ชัวร์ๆ กว่า แต่หนังเรื่องนี้มันเป็น Mission อย่างหนึ่งที่ถ้าผมไม่ทำผมจะเสียใจไปตลอดชีวิต หนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหมวด make money แต่มันอยู่ในหมวด Make Mission มันเป็นภารกิจ มันเป็นอุดมการณ์ของชีวิตที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็นอนตายตาไม่หลับ

Q : ทุกวันนี้นอนตายตาหลับแล้ว

คิดว่านอนตายตาหลับแล้ว

 

 

Q : อีก 2 ปี เราจะเห็นหนังของโหน่ง อะเดย์ไหม หรือเข็ดไหม

เป็น 1 ปีที่เหนื่อยมากๆ แต่ก็ตื่นเต้นที่เราได้ไปในทางที่ไม่เคยไปมาก่อน เห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจ ถ่ายไปก็เห็นว่าหนังของเราก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นนะ ถ่ายไปเราก็รู้สึกสนุกรู้สึกชื่นใจ ผมว่าหนังถ่ายเสร็จแล้วตัดจนได้คัตที่เราพอใจ ไปเร่ิมฉายครั้งแรกตามมหาวิทยาลัยเป็นการโรดโชว์เพราะอยากให้มันเป็นไวรัล ฉายครั้งแรกที่ ม.กรุงเทพ ฟีดแบ็กดีมาก ถล่มทลาย ผมนั่งคุยกับทีมงาน เรามาถึงจุดที่สำเร็จแล้ว ผมคิดแบบนั้นจริง

เป็น 1 ปีที่มีค่าในแง่ตัวผมเอง ผมทำงานสื่อมวลชน ควรจะหาโอกาสสื่อที่มีคุณค่ากับสังคม แล้วเดอะดาวน์ผมเชื่อวาเป็นหนังที่มีคุณค่ากับสังคม ผมยังไม่ได้นึกหรอกว่าเรื่อง 2 เป็นอะไร จะทำต่อหรือเปล่า แต่ทำหนังก็สนุกดีว่ะ รู้สึกติดใจเหมือนกัน

Q : อยากจะบอกอะไรแล้วไม่ได้พูดไปใน 1 ปีที่ผ่านมา

ทุกๆ คนผมรู้สึกขอบคุณทีมงานผมมากๆ ผมรู้ว่าหนังเรื่องหนึ่งมันไม่ได้สำเร็จได้จากคนหนึ่งหรือสองคน มันประกอบด้วยคนที่อยู่เบื้องหลัง เบื้องหน้า 20-30 คน แม้กระทั่งตอนหนังเสร็จแล้ว อ้อ (พีอาร์อะเดย์) ก็เอาหนังไปให้สื่อได้เห็นมันสำคัญมาก ฉะนั้นผมรู้ซึ้งถึงกระบวนการการทำงานกลุ่มมากเลย แล้วผมก็พบว่าผมชอบ บางคนมองว่าผมเป็นศิลปินเดี่ยว ผมเป็นนักเขียน เป็น บก. แต่จริงๆ แล้วผมชอบทำงานกลุ่ม การทำงานเดอะดาวน์มันชัดเลยว่า ผมชักชวนคนที่เก่งๆ ผมก็ชอบนิสัยของเขามาทำงานร่วมกัน ฉะนั้นแต่ละคนก็จะเทความสามารถ เทความใส่ใจมาในงานนี้อย่างเต็มกำลัง ผมว่าทุกคนทุ่มชีวิต ทำให้งานมีพลัง ถ้าถามส่วนตัว ผมทำเดอะดาวน์ด้วยความรู้สึกที่ผมทำอะเดย์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว อยากให้ทุกคนมาชม และรักเหมือนพวกเรา.

ที่มา : ภาพบางส่วนจาก https://www.facebook.com/thedownmovie?fref=ts

 

 

สนใจงานท่องเที่ยว หางานท่องเที่ยว คลิกที่นี่

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top